“สมาพันธ์เฮลธ์” โหนกระแส IoT ผนึกกำลังรพ.จุฬา/CT ASIA ลดความเสี่ยง STROKE ด้วยเทคโนโลยี AFIB

ทุกวันนี้เทคโนโลยีก้าวไปเร็วมาก องค์กรใหญ่ๆ รวมถึงภาครัฐ พากันปรับตัวขนานใหญ่เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยี “ไอโอที” ( Internet of Things: IoT) หรืออินเทอร์เน็ต ทุกสรรพสิ่ง ที่อุปกรณ์จะสามารถเชื่อมต่อกันได้ โดย Gartner คาดการณ์ว่าภายในปี 2020 จะมีอุปกรณ์ไอโอทีมากขึ้น 26,000 ล้านชิ้นทั่วโลก ขณะที่บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลกอย่าง CISCO มองว่าในปี 2020 น่าจะมีอุปกรณ์ไอโอทีมากขึ้น 50,000 ล้านชิ้น

ปัจจุบันไอโอทีได้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายตั้งแต่การติดตั้งระบบไอโอทีในอุปกรณ์ในบ้านเรือนไปจนถึงภาคอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมการเกษตร ใช้เทคโนโลยีไอโอทีเป็นตัวเซ็นเซอร์วัดระดับความชื้นในดินและพื้นที่เพาะปลูก ดึงข้อมูลไปโชว์บนสมาร์ทโฟน ชาวสวนจะรู้ข้อมูลทั้งหมด ธุรกิจค้าปลีก นำไอโอทีมาใช้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภค ผ่านการ Feed ข้อมูลตรงไปยังสมาร์ทโฟนของลูกค้าที่ลงทะเบียนไว้ รวมถึงการนำไอโอที มาใช้ในกระบวนการบริหารจัดการ Supply Chain ตั้งแต่กระบวนการผลิต จัดซื้อ การขนส่ง การจัดเก็บ และการจำหน่ายอีกด้วย

ทั้งนี้รวมถึง ทางการแพทย์ ที่นำไอโอทีไปประยุกต์ใช้กับอุปกรณ์ติดตัวผู้ป่วย เพื่อเฝ้าระวังปัญหาทางด้านสุขภาพที่จำเป็นต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิด โดยอุปกรณ์ดังกล่าวจะส่งสัญญาณไปยังโรงพยาบาลและญาติเมื่อเกิดกรณีฉุกเฉินขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างทันท่วงที

ล่าสุด บริษัท สมาพันธ์เฮลธ์ จำกัด ในฐานะบริษัทที่สรรหาและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพ เล็งเห็นโอกาสในการเติบโตของเทรนด์การดูแลสุขภาพของคนไทยและคนทั่วโลก รวมทั้งกระแสเทคโนโลยีไอโอทีที่มีอิทธิพลต่อหลายธุรกิจ ก็ได้นำไอโอทีมาต่อยอดธุรกิจเช่นกัน โดยมีเป้าหมายเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและดูแลสุขภาพของประชาชน ด้วยการพัฒนาไอโอทีร่วมกับหุ่นยนต์ เพื่อใช้สนับสนุนการรักษาทางการแพทย์

นางสาวธัญชนก อุดมทรัพย์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท สมาพันธ์เฮลธ์ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทได้พัฒนาเทคโนโลยีและการใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ microlife ซึ่งเป็นเครื่องวัดความดันโลหิตอัจฉริยะที่นำระบบไอโอทีเข้ามาใช้และร่วมมือกับ Chulalongkorn Stroke Center โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และบริษัท ซีที เอเชีย โรโบติกส์ จำกัด ผู้ผลิตหุ่นยนต์ เชิงพาณิชย์ของไทยรายแรกในนาม หุ่นยนต์ดินสอมินิ ในการทำงานร่วมกัน โดย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มี Chulalongkorn Stroke Center เพื่อรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ขณะที่ซีที เอเชีย โรโบติกส์ รับหน้าที่ผลิตหุ่นยนต์เพื่อเป็นสื่อกลางระหว่างเครื่อง… microlife กับแพทย์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

สำหรับเครื่องวัดความดัน microlife มีความสามารถในการตรวจเช็คความเสี่ยงภาวะหัวใจสั่นพลิ้ว ( Atrial Fibrillation (Afib หรือ AF) ซึ่งเป็น อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดลิ่มเลือดไหลไปอุดตันในสมองซึ่งอาจทำให้เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาตได้ การตรวจพบภาวะ Afib ได้แต่เนิ่นๆ จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะหลอดเลือดอุดตันและโรคหัวใจได้

การผสานเทคโนโลยีของบริษัท ร่วมกับ Chulalongkorn Stroke Center และหุ่นยนต์ดินสอมินิ จะเชื่อมต่อการทำงานจากเครื่องถึงแพทย์ โดยจะบอกถึงระดับความดัน อัตราการเต้นของหัวใจในร่างกายของคนไข้ และยังบอกถึงโอกาสและความเสี่ยงในการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke อีกด้วย” นางสาวธัญชนกกล่าว

นางสาวธัญชนก อุดมทรัพย์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท สมาพันธ์เฮลธ์ จำกัด

ปัจจุบันภาพรวมของตลาดอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ในประเทศไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2560 ที่ผ่านเติบโตราว 8% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ส่วนปีนี้คาดว่าจะเติบโตที่ 12% ซึ่งถือเป็นอัตราการเติบโตที่สูงที่สุด ซึ่งตลาดเครื่องมือแพทย์มีมูลค่าประมาณ 11,000 ล้านบาท โดยเป็นผลมาจากเทรนด์การดูแลสุขภาพ และการที่ภาครัฐให้การสนับสนุนเป็นอย่างมากในการผลักดันให้ประเทศเป็น HUB ทางด้านเครื่องมือแพทย์

ขณะที่ บริษัทได้ตั้งเป้าหมายการเติบโตเช่นเดียวกับการเติบโตของตลาดอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยคาดว่าจะเติบโตได้ถึง 12% ด้วยการพัฒนาสินค้านวัตกรรมใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง อย่างล่าสุดคือ เครื่องวัดความดัน microlife เพื่อป้องกันปัจจัยเสี่ยงในการเป็นโรคหลอดสมอง ซึ่งเป็นโรคที่ปัจจุบันคนไทยเป็นกันจำนวนมาก และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของประเทศอีกด้วย

ศ.พญ.นิจศรี ชาญณรงค์ หัวหน้าสาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและนพ.วสันต์ อัครธนวัฒน์ อายุรแพทย์ระบบประสาทวิทยา รพ.จุฬาฯ ร่วมกันให้ข้อมูลว่า จากสถิติพบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองปีละ 3 แสนราย มีผู้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าวปีละ 60,000 รายติดอันดับท็อปทรีของสาเหตุการเสียชีวิตรองจากโรคมะเร็งและหลอดเลือดหัวใจ

ศ.พญ.นิจศรี ชาญณรงค์ หัวหน้าสาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โรคหลอดเลือดสมอง หรือโรคอัมพฤกษ์ อัมพาตเป็นภาวะที่สมองสูญเสียการทำงานบางส่วนอย่างเฉียบพลันจากหลอดเลือดสมองตีบอุดตันหรือจากหลอดเลือดสมองแตกทำให้เกิดความผิดปกติของร่างกาย พบได้บ่อยในผู้สูงอายุและเป็นสาเหตุทำให้คนไทยสูญเสียปีสุขภาวะจากการพิการและเสียชีวิตก่อนวันอันควรมากเป็นอันดับ 1 ของประเทศและมีจำนวนเพิ่มขึ้นมากขึ้นทุกๆ ปี โดยกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดสมอง ได้แก่ ผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัวเช่น ความดัน เบาหวาน สูบบุหรี่ ไม่ออกกำลังกาย ซึ่งวิธีการป้องกันคือ ควรตรวจร่างกายเป็นประจำ

ความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับคนไข้ได้ตรวจเช็คร่างกายได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะการใช้หุ่นยนต์ดินสอมินิ ซึ่งจะมีหน้าที่ดูแลคนป่วยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้หรืออาจจะยังไม่มีคนดูแลก็จะสามารถส่งข้อมูลติดต่อไปยังญาติและหมอได้ ซึ่งขณะนี้ทางศูนย์ Chulalongkorn Stroke Center มีให้ผู้ป่วยยืมได้ทั้งหมด 7 ตัวและจะขยายไปยังโรงพยาบาลเครือข่ายอื่นๆ ต่อไป

อนึ่ง บริษัท สมาพันธ์เฮลธ์ จำกัด ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2534 ปัจจุบัน มีผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพ 3 กลุ่ม ได้แก่

1. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อสุขภาพและผลิตภัณฑ์ทางเลือก
2. อุปกรณ์ตรวจวัดและดูแลสุขภาพในชีวิตประจำวัน
3. อุปกรณ์ที่ช่วยดูแลรักษาและเพิ่มคุณภาพชีวิต

เพื่อให้คนไทยสามารถดูแลสุขภาพได้ด้วยตนเอง ด้วยผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพที่หลากหลาย ผ่านตัวแทนจำหน่ายชั้นนำทั่วไป